#ออมเงิน #เคล็ดลับระงับนิสัยนักช้อป
การช้อปปิ้งกับผู้หญิง ถือเป็นของที่มาคู่กันจนแทบจะแยกไม่ได้ โดยเฉพาะยามที่เห็นป้ายเซลล์ลดราคานั้นก็ช่างยั่วยวนหัวจิตหัวใจเสียเหลือเกิน ยังไม่นับรวมเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องสำอางที่ของมันต้องมีนะ! ยิ่งเมื่อเราสามารถช้อปออนไลน์อยู่บ้านก็สั่งจ่ายตัดผ่านบัตรเครดิตได้ด้วยแล้วละก็ รู้ตัวอีกทีก็ เห็นลิปสติกสีใกล้เคียงกันอยู่หลายแท่ง เสื้อผ้าล้นตู้แต่ยังไม่ได้ใส่ หรือของบางกองๆ รวมกันไว้ยังไม่ได้ใช้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คงดี แต่เมื่อไม่ได้ เคล็ดลับระงับนิสัยช้อปเพลิน เหล่านี้ช่วยได้ คราวหน้าจะได้มีสติกว่านี้!!!
1. ออมก่อนใช้ หักเงินเดือนเข้าบัญชีเงินออมไปก่อนเลย 20%
“เก็บก่อนใช้” เป็นวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลมานักต่อนักแล้ว หากใครไม่สามารถหักห้ามใจในการช้อปได้จริงๆ ล่ะก็ ทุกครั้งที่ได้เงินเดือน หรือ มีรายรับเข้ามา ให้ตัดใจหักเข้าบัญชีเงินออมไปก่อนเลย 20-30% (ซึ่งบัญชีนี้ควรเป็นบัญชีเงินฝากประจำ หรือเงินฝากที่กำหนดให้หลัง จากนั้นเราค่อยใช้จากเงินที่เหลืออยู่ ก็จะช่วยให้สาวๆ เก็บเงินได้มากขึ้น)
2.งัดเอาชุดที่ตัวเองไม่ได้ใส่ และของที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้ใช้ออกมาดู
ถึงเวลาปฏิบัติการโล๊ะตู้เสื้อผ้าครั้งใหญ่กันแล้วครับ ในขั้นตอนนี้เพื่อนๆหลายคนอาจจะพบว่า นอกจากเสื้อผ้าที่ซื้อมาเฉพาะตอนเซลล์แล้ว ยังมีกระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ที่เราไม่ได้ใช้จริง บางชุดก็อาจจะใส่ไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะขนาดตัวที่เปลี่ยน หรือแฟชั่นที่เปลี่ยนไปก็ตาม ตรงนี้ก็จะทำให้ สติ ของเราเริ่มกลับมาคิดว่า หากนำของเหล่านี้ไปเปลี่ยนเป็นเงินจะได้มูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งเราสามารถนำของที่ไม่ได้ใช้แล้วไปบริจาค หรือลงขายในเว็บไซต์ อย่าง kaidee.com, pantipmarket, siambrandname
3.โหลดแอพพลิเคชั่นบันทึกรายรับ รายจ่ายมาใช้
ยุคนี้แล้วใครจะยังมาทำบันทึกรายรับรายจ่ายกันอยู่อีกล่ะ? ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ประโยชน์ของการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายนั้นก็มีอยู่มากจริงๆ เพราะจะทำให้เราได้รู้ว่า เราเสียเงินให้กับค่าใช้จ่ายหมวดไหนมากเป็นพิเศษ เงินทั้งหมดที่จ่ายไปคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายรับ เพื่อที่เราจะได้นำมาวางแผนการเงินต่อไปได้ถูกว่าควรจะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนไหนให้มากขึ้น หากใครที่ไม่สะดวกในการเขียน เดี๋ยวนี้ก็มีแอพพลิเคชั่นตัวช่วยมากมาย เช่น Money Lover, Weple Money หรือหากใครชอบใช้บัตรเครดิต Piggipo ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการคำนวณดอกเบี้ย และแจ้งเตือนวันชำระเงินของบัตรเครดิตแต่ละใบ
4.เปลี่ยนจากการช้อปปิ้งสินค้า มาช้อปปิ้งการลงทุนแทน
เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกคันไม้คันมือ อยากช้อปปิ้งจริงๆ เพราะมีความสุขกับการได้เลือกและใช้จ่ายอะไรสักอย่างขอแนะนำให้สาวๆ ช้อปปิ้งของที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินสดที่อาจสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต เช่น หุ้น กองทุน หรือทอง อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง อยากให้เพื่อนๆสำรวจตัวเองให้ดีก่อนว่า สามารถรับความเสี่ยงถึงขั้นไหน แล้วเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ศึกษาหาข้อมูลในสิ่งที่เราตั้งใจจะลงทุนให้รอบคอบ โดยอาจจะเริ่มจากเงินจำนวนน้อย เช่น 500 หรือ 1,000 บาทก่อน แล้วจึงค่อยขยับจำนวนขึ้นตามความเข้าใจตลาดการลงทุน
5.เมื่อเห็นของที่อยากได้ อย่าเพิ่งซื้อทันที
บ่อยครั้งที่เราซื้อของตามอารมณ์โดยไม่ได้ต้องการของสิ่งนั้นจริงๆ ดังนั้น เพื่อพบเจอของอะไรก็ตามที่ถูกใจ เราอยากให้สาวๆ กลับมาคิดก่อน ถ้าภายใน 3 วัน ยังอยากได้ของชิ้นนั้นอยู่ ค่อยซื้อ ยกเว้นว่าจะเจอในกรณีที่ของสิ่งนั้นเป็นของมองหาอยากได้มานานแล้ว และในร้านเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น แบบนี้ก็พออนุโลมได้
6.คิดไว้ว่าของชิ้นนี้ที่เราอยากได้ อีก 1 ปี มันจะไปอยู่ที่ไหน?
กรณีนี้คล้ายกับข้อ 5 แต่เป็นการคิดไกลกว่านั้นอีกหน่อย บางทีของชิ้นนั้นอาจไม่จำเป็นสำหรับเราเลย นอกจากการวางหรือเก็บใส่ตู้ไว้เฉยๆ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอีก 1 ปี เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะไปอยู่ส่วนไหนของบ้าน หรือจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามีของชิ้นนั้นอยู่ด้วย พูดง่ายๆ คือ มันเป็นของที่เราซื้อมาเพราะความอยากซื้อเพียงชั่วครู่มากกว่าความอยากได้อย่างแท้จริงนั่นเอง
7.หยอดกระปุกเท่าราคาจำนวนของที่อยากจะซื้อ
วิธีนี้ก็ช่วยในการออมเงินได้อีกแบบ ถือเป็นการฝึกวินัยไปในตัว เช่น หาขวดโหลเปล่าๆ มาไว้สัก 4-5 ใบ แล้วแปะรายการของที่เราอยากได้ลงไปบนโหลนั้น พร้อมกับหยอดกระปุกไปเรื่อยๆ โหลไหนเต็มก่อนก็ไปซื้อของชิ้นนั้นมาก่อน บางครั้งเราอาจพบว่า ระหว่างที่เงินใกล้จะเต็ม เราอาจไม่ได้ต้องการของชิ้นนั้นแล้วก็ได้ แต่หากยังต้องการซื้ออยู่ก็จะช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจที่เราสามารถเก็บออมได้
8.จ่ายเงินสดแทนการใช้บัตรเครดิต
เราควรจ่ายเงินสดมากกว่าบัตรเครดิต สาวคนไหนอยากได้ครีมประปุกหนึ่งราคา 5,000 บาท หากเรารูดบัตรจ่ายไปเลยตอนนั้น ก็จะต้องกลับมาจ่ายธนาคารเจ้าของบัตรคืนด้วยเงินสดอยู่ดี และหากเราจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ หรือ ชำระไม่ครบจำนวนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก แต่ถ้าหากเราจ่ายด้วยเงินสด เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่า เงินที่เราจ่ายออกไปนั้นมีจำนวนมากแค่ไหน แล้วจะเกิดความเสียดายขึ้น แต่หากบัตรเครดิตมีโปรโมชั่น เช่น ผ่อน 0% หรือใช้แต้มในบัตรแลกซื้อของในราคาที่เราต้องการได้พอดี การมีบัตรเครดิตไว้ก็อำนวยความสะดวกได้มาก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นในช่วงนั้นด้วยเหมือนกันนะ
9.จดรายการสินค้าที่ต้องการก่อนออกไปช้อป
เคยไหม? ที่เราตั้งใจจะไปซื้ออะไรสักอย่าง แต่กลับได้อย่างอื่นมาแทน บางครั้งไปถึงร้านแล้วก็ลืมว่าของที่ตั้งใจจะซื้อทั้งหมดนั้นมีอะไรบ้างกันแน่ ทำให้ซื้อกลับมาไม่ครบ หรือแม้กระทั่งซื้อมาผิดสี ผิดไซส์ ใช้ไม่ได้ไปอีก ดังนั้นแล้วการที่เราทำลิสต์รายการสินค้าออกไปช้อป จะช่วยกำจัดปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราลดการซื้อของอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายได้ด้วยนะ
10.กำหนดเป้าหมายที่ใหญ่กว่า เพื่อลดการใช้จ่ายยิบย่อยลง
เราแนะนำให้ตั้งเป้าไว้เลยว่า สิ้นปีนี้จะไปเที่ยวต่างประเทศ ค่าตั๋วเครื่องบินไป – กลับ ค่าที่พัก พร้อมพ็อกเก็ตมันนี่ รวมแล้ว 20,000 บาท เป็นต้น จะได้ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และเป็นการบังคับให้เราลดการซื้อของยิบย่อยด้วย เพื่อที่จะได้นำเงินนั้นมาสะสมรวมอยู่ในเป้าหมายใหญ่ทีเดียว
11.ออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง
ลองออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีโอกาสใช้เงินน้อยลง แต่ได้ประโยชน์และดีต่อใจ เช่น การไปเป็นอาสาสมัครตามมูลนิธิหรือโรงพยาบาล ออกไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน แทนการออกไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า หรือเข้าเว็บช้อปปิ้งออนไลน์อย่างที่เคยทำ นอกจากจะลดโอกาสในการใช้เงินแล้ว ยังได้เพิ่มทักษะในการเข้าสังคม พบปะกับเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ เผลอๆ ได้คนรู้ใจติไม้ติดมือกลับมาด้วย
12.พกเงินสดแค่พอใช้ในแต่ละวัน
บางครั้งการพกเงินสดติดตัวไปเยอะ แล้วระหว่างวันต้องเดินผ่านตลาดนัด หรือร้านค้าที่ใกล้กับออฟฟิศ มันก็ช่างเป็นการยากเหลือเกินที่จะหักห้ามใจไม่ให้ซื้อ แต่ถ้าเราพกเงินสดไปแค่จำนวนที่จะใช้เป็นค่าข้าว หรือค่าเดินทางในแต่ละวัน (อาจมีสำรองเผื่อฉุกเฉินบ้างอีกนิดหน่อย) ก็จะทำให้เราใช้จ่ายได้ยากขึ้น หรือเพิ่มเวลาในการตัดสินใจให้เราได้มากขึ้น
13.ทำอาหารกินเองที่บ้าน
ข้อนี้ใครที่ทำอาหารรับประทานเองจะรู้ดีว่านอกจากค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า (ในกรณีที่ทำครั้งเดียวทานกันหลายคน) เรายังสามารถควบคุมทั้งต้นทุน และวัตถุดิบเองได้ ส่งผลดีในเรื่องของสุขภาพอย่างแน่นอน ทั้งการเลือกเมนูเพื่อสุขภาพ ใช้ผักปลอดสารพิษ วัตถุดิบและขั้นตอนการทำที่สด สะอาด ไม่ใส่ผงชูรสหรือเครื่องปรุงในปริมาณที่มากจนเกินไป อีกทั้งหากช่วยกันทำอาหารก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้อีกอย่าง
14.แยกแยะหว่าง สิ่งที่จำเป็น กับ สิ่งที่อยากได้
สิ่งที่จำเป็น มักเป็นของที่เราตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผล และคำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก เช่น เราจำเป็นต้องซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำงาน ซื้อรถสำหรับขนส่งสินค้า ส่วนสิ่งที่อยากได้นั้นมักมีความพึงพอใจที่คอยกระตุ้นเราอยู่เป็นหลัก โดยมากเมื่อเวลาผ่านไปเราจะพบว่า ของที่เราเคยอยากได้นั้นแท้ที่จริงแล้ว มันก็ไม่ได้จำเป็นสำหรับเราขนาดนั้น ดังนั้น การใช้สติ พิจารณาถึงความแตกต่างของสิ่งที่จำเป็น และสิ่งที่อยากได้ เพื่อมองหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด สำหรับเราก็จะช่วยลดนิสัยช้อปเพลินของเราได้ค่ะ
Credit : นันทรัช ชมภูแสง
Content Writer ประจำเว็บไซต์ GoBear ผู้หลงใหลการอ่านหนังสือและเชื่อมั่นในพลังของการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเรื่องราว มีความสุขกับการฟังเพลง ดูซีรีส์ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น
Photo Credit : giphy / pinterest